วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย


 24 กันยายน วันมหิดล เป็นวันคล้ายวันทิวงคต (เสียชีวิต)ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย"

 ประวัติพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกหรือสมเด็จพระราชบิดา แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เป็นโอรสองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงประสูติ ณ วันศุกร์ขึ้น 3 ค่ำ เดือนยี่ ปีเถาะ ตรงกับ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2434 พระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า "สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลยเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณ์นรินทร์วรรางกูร สมบูรณ์เบญจพรศิริสวัสดิ์ ขัตติย วโรภโตสุชาติ คุณสังกาศ เกียรติประกฤษฐ์ ลักษณะวิจิตร พิสิษฐ์บุรุษย์ ชนุตรัตนพัฒนศักดิ์ อรรควรราชกุมาร"
สมเด็จพระราชบิดาทรงเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกหลังนั้นทรงเสด็จไปศึกษาวิชาการทหารชั้นสูงของเยอรมันนี
โดยสำเร็จการศึกษาจาก Imperial German Naval Collegeและทรงเข้ารับราชการในกองทัพเรือเยอรมันเป็นเวลา 3 ปี ต่อมาพระองค์ทรงลาออกจากกองทัพเรือของเยอรมันนี และทรงเข้ารับราชการในราชนาวีไทย ขณะทรงพระยศนายเรือโทได้เสด็จมาจังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรก และขณะทรงพระยศนายเรือเอก ได้เสด็จมาจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่งเพื่อทรงเปิดโรงพยาบาลแมคคอร์มิค สถานอนามัย และโรงพยาบาลต่อมาพระองค์ทรงพระดำริว่า กิจการแพทย์และสาธารณสุขมีความสำคัญต่อประเทศไทยในขณะนั้นเป็นอย่างมาก และนับวันจะยิ่งสำคัญขึ้น พระองค์ทรงมีพระปรีชาญาณหยั่งการณ์ไกลว่าความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติและความผาสุข ของประชาชนชาวไทยมีความเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับการแพทย์ และการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสูงเมื่อทรงได้รับการชักชวนจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร และหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ให้มาทรงช่วยงานในโรงพยาบาลศิริราชพระองค์จึงทรงลาออกจากราชการของกองทัพเรือ แล้วทรงอุทิศทั้งพระวรกาย พระปรีชา สามารถและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
เข้าช่วยเหลือ เพื่อวางรากฐานให้กับกิจการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ด้วยน้ำพระทัยอันมั่นคงกอปรด้วยพระนิสัยทำอะไรทำจริง พระองค์จึงทรงวิริยะอุตสาหะเสด็จไปทรงศึกษาวิชา
สาธารณสุขศาสตร์และวิชาแพทย์ โดยได้รับปริญญา C.P.H. และปริญญา Doctor of Medicine (M.D.) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2460 ระหว่างที่ทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนั้น พระองค์มิได้เคยคำนึงถึงความสุขส่วนพระองค์แม้แต่น้อย

ทรงวางแผนที่จะปรับปรุงและพัฒนาโรงเรียนราชแพทยาลัยและโรงพยาบาลศิริราชรวมทั้งได้ทรงเล็งเห็นความจำเป็น
ในการสร้างหลักสูตรการแพทย์ไทยให้ได้มาตรฐานทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ด้วยพระปรีชาพระวิริยะ และพระจริยวัตรที่น่าเลื่อมใส ศรัทธา เป็นที่ประทับใจแก่ผู้เกี่ยวข้องจึงทำให้การติดต่อกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เป็นผลสำเร็จอย่างดียิ่งโดยได้รับความช่วยเหลือเพื่อปรับปรุงด้านการศึกษาแพทย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

พระองค์ทรงเล็งเห็นความจำเป็นในการสร้างสรรค์อาจารย์แพทย์และอาจารย์ในสาขาวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้อง จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากในการส่งนักเรียนไทยไปศึกษาวิชาการแพทย์แขนงต่างๆ เช่น วิชาแพทย์วิชาพยาบาล วิชาวิทยาศาสตร์ ตลอดจนวิชาทันตแพทย์ โดยมีพระประสงค์จะให้บุคคลเหล่านั้นกลับมาเป็นครูที่ดี ช่วยปรับปรุงและส่งเสริมความรู้ในสาขาวิชาที่ยังบกพร่องให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นพระราชกรณียกิจของพระองค์ในโรงเรียนแพทย์ ได้ทรงถือหลัก 3 ประการคือ ให้การศึกษารักษาผู้ป่วยและค้นคว้าวิจัย ซึ่งในปัจจุบันแพทย์ทั่วไปก็ยังยึดถือเป็นหัวใจในการพัฒนาตนเองทรงปฏิบัติตนเป็นแบบฉบับที่หาผู้หนึ่งผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก ทรงเป็นตัวอย่างของนักศึกษาที่ดีและครูแพทย์ที่สมบูรณ์แบบทรงปลูกฝังอุดมคติของการเป็นแพทย์ ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้ว่า"ฉันไม่ได้ต้องการให้เธอเป็นเพียงหมออย่างเดียวเท่านั้นแต่ฉันต้องการให้เธอเป็นคนด้วย"

ด้วยพระคุณธรรมอันประเสริฐและน้ำพระทัยอันสูงส่งเป็นแบบอย่างของการอุทิศพระองค์ เพื่อประเทศชาติและการแพทย์ไทยประชาชนชาวไทย จึงซาบซึ้งและเทิดทูนพระเกียรติคุณดังพระราชสมัญญานามว่า"พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย"



พระองค์เปรียบเสมือนหนึ่งดวงประทีปที่ส่องแนววิถีอันประเสริฐ ซึ่งอนุชนรุ่นหลังพึงปฏิบัติตามพระองค์ โดย
ทรงดำเนินทางสายกลางซึ่งเป็นทางแห่งความพอดีและมีเหตุผล แม้จะทรงเป็นเจ้าโดยชาติกำเนิดแต่พระจริยาวัตรของพระองค์ก็ได้ก่อให้เกิดความนิยมและจงรักภักดีอย่างลึกซึ้ง ประกอบกับทรงสละพระองค์เองทั้งพระกำลัง พระสติปัญญา และพระราชทรัพย์เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาราษฎร์ เสมือนหนึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้รับใช้จนได้รับการถวายพระนามว่า "เจ้าที่มิใช่นาย" ด้วยพระปณิธานอันสูงส่งมิได้ทรงยอมให้ฐานันดรใดๆ มากีดกั้นระหว่างพระองค์ท่านและประชาชน พระองค์ได้เสด็จมาทรงปฏิบัติหน้าที่แพทย์ที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2472 ชาวเมืองเชียงใหม่รู้จักพระองค์ ในพระนามของ "หมอเจ้าฟ้า" พระองค์ทรงมีโอกาสปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงสามัญชนด้วยความศรัทธา อย่างแท้จริงเพียง 3 สัปดาห์ ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯเพราะทรงพระประชวรพระองค์ทรงมีพระชนม์ชีพเพื่อทรงเกื้อหนุนผู้อัตคัตขัดสนและผู้ประสบโรคาพยาธิ  มิได้ทรงเอาพระทัยใส่ต่อพระองค์เองเพราะทรงมุ่งแต่โอบอุ้มผู้อื่นจนถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เมื่อทรงมีพระชนมายุได้เพียง 37 พรรษาเศษ พระองค์ทรงเป็นแบบฉบับของบุคคลทุกอาชีพประกอบด้วยเมตตาธรรม และคุณธรรมอันประเสริฐ ทรงเสียสละให้ผู้อื่นโดยมิได้ทรงหวังผลตอบแทนด้วยลาภ ยศ สุข และสรรเสริญ ประพฤติเหตุทั้งปวง

จึงเป็นเครื่องเชิดชูพระเกียรติคุณของพระองค์ในฐานะแพทย์ พระองค์ทรงเป็นตัวอย่างอันประเสริฐแก่แพทย์ทั่วไป
ทรงเสียสละเพื่อความเจริญของกิจการแพทย์โดยส่วนรวม แม้พระองค์ได้ทรงจากพวกเราไปสู่สุขคติภพแล้ว คงเหลือแต่พระกรณียกิจและพระเกียรติคุณเป็นรอยตรึงใจจารึกแก่ผู้อยู่เบื้องหลังและเบื้องหน้าต่อไปที่มิอาจลืมเลือนได้ตราบเท่ากัลปวสาน
น้อมสำนึกพระเมตตา
เชิญท่านตามรอยพระบาทพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ช่วยผู้ป่วยยากไร้ ร.พ. ศิริราช
กิจกรรมรับบริจาคสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 ได้จัดให้มี กิจกรรมออกรับบริจาคสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ เนื่องในวันมหิดล โดย คณะนักศึกษาแพทย์และพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ของทุกปี ซึ่งเมื่อบริจาคทุก 500 บาท จะมี ธงสัญลักษณ์วันมหิดล พร้อมเสาธง มอบเป็นของที่ระลึก เมื่อบริจาคทุก 20 บาท จะมี ธงสัญลักษณ์วันมหิดล มอบเป็นของที่ระลึก และ เมื่อบริจาคเงินสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ จะมี สติกเกอร์วันมหิดล มอบเป็นของที่ระลึกวันมหิดลมีเป็นประจำทุกปี



Long Live The Great King Bhumibol Adulyadej,
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ องค์ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช



ขอบคุณที่มาจากวิกิพีเดียไทยและเว็บไซต์วันมหิดล

1 ความคิดเห็น: