วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

พ่อหลวงทรงเป็นจอมทัพไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถือพระคทาจอมทัพภูมิพล

"ข้าพเจ้าขอขอบใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ
นายทหารผู้ใหญ่ทุกคน  ที่นำคทาจอมทัพมามอบให้ข้าพเจ้าครั้งนี้ 
ข้าพเจ้ายินดีรับไว้ด้วยความเต็มใจ  และจะถือว่าคทาจอมทัพ
เป็นเสมือนเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกองทัพทั้งสาม


อิสรภาพ ความมั่นคง  ตลอดจนความเจริญรุ่งเรืองของประเทศของเรา
ขึ้นอยู่กับกิจการทหารเป็นสำคัญ  ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย เพราะเมืองไทย
ของเรานี้เป็นเมืองทหาร  คนไทยทุกคนมีเลือดทหาร  เป็นนักต่อสู้ 
ผู้รักและหวงแหนความเป็นไทยยิ่งด้วยชีวิต  ข้าพเจ้าจึงมีความพอใจอย่างยิ่ง 
ที่ได้เห็นความกลมเกลียวเป็นปึกแผ่นของทหารทั้งสามเหล่าในวันนี้

ทหารมีหน้าที่ป้องกันรักษาประเทศหน้าที่นี้  นอกจากในด้านการรบแล้ว 
ยังมีด้านอื่นซึ่งสำคัญเท่าเทียมกันอยู่อีก คือ การสร้างความสัมพันธ์
อันดีกับประชาชน  ทหารต้องทำตัวเป็นมิตร  ต้องสงเคราะห์อนุเคราะห์ประชาชน
ด้วยการให้ความคุ้มครองป้องกัน  และช่วยเหลือในความเป็นอยู่ 
ตลอดถึงการแนะนำสนับสนุนในการครองชีพด้วย  ถ้าทหารปฏิบัติ
หน้าที่ได้อย่างครบถ้วน  ก็จะเป็นที่อุ่นใจ  และเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจ
ของประชาชนได้อย่างแท้จริง  ขอท่านทั้งหลายจงร่วมมือร่วมใจกัน
ทำหน้าที่ของทหารให้สมบูรณ์ทุกด้าน  มีความพรักพร้อมเป็นใจเดียวกัน 
ประกอบกรณียกิจเพื่อความมั่นคงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ 
และความร่มเย็นเป็นผาสุกของประชาราษฎรไทยทุกคน

ขอคุณพระศรีรัตนตรัย จงคุ้มครองท่านทั้งหลาย ให้แคล้วคลาด
จากภัยทุกประการ  บันดาลให้เกิดกำลังกาย  กำลังใจ และกำลังปัญญา 
สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติยิ่งขึ้นสืบไป"


นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์ทรงใช้พระคทาจอมพลองค์ที่สาม
ซึ่งนายกรัฐมนตรี และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงกลาโหม ได้ทูลเกล้า ฯ ถวาย พร้อมเครื่องยศจอมพล เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พุทธศักราช 2493 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เนื่องในวโรกาส ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินนิวัตสู่ประเทศไทย

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2509 ข้าราชการกระทรวงกลาโหมเห็นว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ สำหรับประเทศชาติ ทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างมากมาย ทำให้กิจการต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จลุล่วงเสมอ พระบารมีของพระองค์แผ่ไพศาล ก่อให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียว และความสงบสุขในหมู่ประชาชน สภากลาโหมจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พุทธศักราช 2509 ให้สร้างพระคทาจอมพลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดยเก็บเงินเพื่อสร้างคทานี้จากนายทหารชั้นนายพลประจำการทุกนาย และในวันที่ 2 ธันวาคม พุทธศักราช 2509 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายพระคทาจอมพลองค์นี้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุ 40 พรรษา เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความจงรักภักดีของข้าราชการทหารทุกนาย และได้ขอพระบรมราชานุญาต ขนานนามพระคทาองค์ใหม่นี้เป็นพิเศษว่า
พระคทาจอมทัพภูมิพล

สายยงยศ จอมทัพ
สายยงยศเป็นเครื่องหมายแสดงฐานะพิเศษเฉพาะบางฐานะของผู้ประดับที่เป็นทหาร ซึ่งไม่เป็นสาธารณแก่ทหารทั่วไป เช่นสายยงยศของนายทหารฝ่ายเสนาธิการ และสายยงยศของราชองครักษ์ เป็นต้น
สำหรับสายยงยศจอมทัพไทย เป็นสายยงยศเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นองค์ "จอมทัพไทย" สายยงยศนี้แตกต่างจากสายยงยศราชองครักษ์ด้วยมีสายไหมหรือสายไหมทองถักรวบสายยงยศคู่หน้า เมื่อประดับบนฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร ถมที่ถักรวบดังกล่าวนี้ จะอยู่ในแนวกระเป๋าของฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารระดับพระอุระเบื้องขวา

พระคทาจอมทัพภูมิพล
คทาจอมพล เริ่มใช้เป็นเครื่องประดับเกียรติในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังที่ทรงปรับปรุงกิจการทหารเป็นแบบสากล  คทาจอมพล แบ่งออกเป็น  ๓ ประเภท

ประเภทที่ ๑ เป็นพระคทาเครื่องต้นของพระมหากษัตริย์
ประเภทที่ ๒ เป็นพระคทาสำหรับพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งดำรงพระยศเป็นจอมพล
ประเภทที่ ๓ เป็นคทาสำหรับจอมพลทั่วไปใน    เหล่าทัพ


ผู้บัญชาการกรมทหาร พร้อมด้วยข้าราชการในกรมยุทธนาธิการเตรียมรับการตรวจแถว จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สนามหญ้า ภายในศาลายุทธนาธิการ ภายหลังที่กรมทหารบกทูลเกล้าฯ ถวายพระคทาจอมพล เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๔๖
คทาจอมพล  ซึ่งเป็นพระคทาเครื่องต้นของพระมหากษัตริย์  มี  ๔ องค์  คือ
องค์แรก  ข้าราชการกรมทหารบกได้สร้างพระคทาจอมพลขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะองค์จอมทัพไทย
เนื่องในพระราชพิธีทวีธาภิเษกสมโภช เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๔๔๖    พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถือพระคทาจอมพลองค์แรกของกองทัพไทย
ซึ่งกรมทหารบกทูลเกล้าฯ ถวาย
พระคทาจอมพลองค์แรก
ลักษณะพระคทาจอมพลองค์แรกนี้ เป็นรูปทรงกระบอกยาก ๓๕ เซนติเมตร ยอดเป็นรูปช้างสามเศียร ลงยาสีขาวเหนือหัวช้างเป็นพระเกี้ยว  ตอนท้ายเป็นทรงกระบอกตัดองค์พระคทาทำด้วยทองคำหนัก ๔๐ บาท  และใต้หัวช้างลงมาเป็นลายนูนรูปหม้อกลศ  ซึ่งหมายถึงการทูลเกล้า ฯ ถวายเนื่องในพระราชพิธีทวีธาภิเษก  พระคทาองค์นี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงใช้เป็นประจำตลอดรัชกาล
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือพระคทาจอมพลองค์ที่ ๒ ที่มียอดเป็นมงกุฎ

พระคทาจอมพลองค์ที่ ๒
องค์ที่ ๒   ข้าราชการกรมยุทนาธิการ  ได้จัดสร้างพระคทาจอมพลขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะองค์จอมทัพไทย เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๓ พระคทาจอมพลองค์ที่ ๒  มีลักษณะส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับพระคทาองค์แรกมากต่างกันตรงยอดซึ่งเป็นมงกุฎและมีลายเฟื่องอยู่ที่แถบกลางใต้ฐานของยอดมงกุฎโดยรอบเท่านั้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถือพระคทาจอมพลองค์ที่ ๓ ซึ่งพระองค์ทรงพระราชทานแบบพระคทาขึ้นใหม่

พระคทาจอมพลองค์ที่ ๓

องค์ที่ ๓   ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ได้ทรงพระราชทานแบบพระคทาจอมพลขึ้นใหม่และโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นด้วยทองคำเกลี้ยง

พระคทาจอมพลองค์ที่ ๓  นี้   มีลักษณะป่องตรงกลางและคอดเรียวไปทางด้านยอดและด้านปลาย  ตรงยอดของพระคทา  เป็นรูปพระยาครุฑพ่าห์ลงยาตามแบบพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน และใต้พระยาครุฑ เป็นลูกแก้วรองฐานบัวหงายลงยาราชาวดี  ส่วนด้านปลายมีลูกแก้ว และยอดบัวกลุ่มสี่ชั้นลงยาราชาวดีเช่นกัน

พระคทาจอมพลองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้มาตลอดรัชกาล ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้พระคทาจอมพลองค์นี้สืบมา
องค์ที่ ๔ นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติพระองค์ทรงใช้พระคทาจอมพลองค์ที่ ๓  ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนายกรัฐมนตรีและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงกลาโหมได้ทูลเกล้า ฯ  ถวายพร้อมเครื่องยศจอมพล เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓    พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

เนื่องในวโรกาสที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินนิวัติสู่ประเทศไทย  ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๐๙  ข้าราชการกระทรวงกลาโหมต่างพิจารณาเห็นว่าพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสำหรับประเทศชาติ  ทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างมากมายกิจการใดที่เป็นประโยชน์ต่อชาติ และพสกนิกรชาวไทยแล้ว พระองค์จะทรงเข้ารับเป็นพระราชภาระและทำให้กิจการต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จเสมอ พระบารมีของพระองค์ก่อให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวและความสงบสุขในหมู่ประชาชน

ดังนั้นในวันที่ ๑๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๙  สภากลาโหมได้มีมติให้จัดสร้างพระคทาจอมพลขึ้นเพื่อทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเก็บเงินเพื่อสร้างพระคทานี้จากนายทหารชั้นนายพลประจำการทุกนาย และในวันที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๙  นายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายพระคทาจอมพลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุเข้าปีที่  ๔๐  เพื่อเป็นเครื่องหมายของความจงรักภักดีของข้าราชการทหารทุกนาย และเพื่อให้แปลกแตกต่างไปจากพระคทาจอมพลองค์ก่อน ๆ  จึงได้ขอพระบรมราชานุญาตขนานนามพระคทาองค์ใหม่เป็นพิเศษว่า "พระคทาจอมทัพภูมิพล"
พระคทาจอมทัพภูมิพล
พระคทาจอมพลองค์ที่ ๔  (พระคทาจอมทัพภูมิพล)  มีลักษณะทั่วไปเหมือนพระคทาจอมพลองค์ที่ ๓  กล่าวคือ องค์พระคทาทำด้วยทองคำหนัก ๔๓๐ กรัม  แกนกลางป่องเรียวไปทางยอดและปลาย  ประกอบด้วยเครื่องหมายมงคลแปด ซึ่งถือกันว่าเป็นนิมิตหมายแห่งความเป็นมงคลในศาสนาพราหมณ์  ด้านยอดคงมีพระยาครุฑพ่าห์ลงยา และลูกแก้วรองฐานบัวหงายลงยาราชาวดี ส่วนด้านปลายมีลูกแก้วและยอดบัวกลุ่มสี่ชั้นลงยาราชาวดี เช่น  พระคทาองค์ที่ ๓  ส่วนที่ต่างออกไป คือ เหนือพระยาครุฑมีพระปรมาภิไธยย่อ "ภปร" ฝังเพชรอยู่ในกรอบรูปไข่ และมีรูปพระมหาพิชัยมงกุฎทองฝังเพชรอยู่เบื้องบน ตอนปลายต่อจากเครื่องหมายมงคลแปด มีเครื่องหมายกระทรวงกลาโหม

ชาติของเรา   เป็นไทยอยู่ได้   จนถึงตัวเราคนหนึ่งนี้   เพราะบรรพบุรุษของเรา
เอาเลือด   เอาเนื้อ   เอาชีวิต   และความลำบากยากเข็ญเข้าแลกไว้
โขลงช้างยังมีพญาสาร
ครอบครองบริวารทั้งหลาย
ฝูงโคขุนโคก็เป็นนาย
มุ่งหมายนำพวกไปหากิน
ฝูงหงส์มีเหมราชา
สกุณามีขุนปักษิณ
เทวายังมีสักรินทร์
เป็นปิ่นเทวัญชั้นฟ้า
เผ่าชนจะตั้งเป็นคณะ
จะต่างคิดเกะกะตามประสา
จะอยู่ได้ดีกี่เวลา
ดูน่าจะยับอับจน
จำเป็นต้องมีหัวหน้า
กะการบัญชาให้เป็นผล
กองทัพบริบูรณ์ผู้คน
ไม่มีจุมพลจะสู้ใคร

(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าพระเจ้าอยู่หัว)

        พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นจอมทัพไทยมาทุกยุคทุกสมัย สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ที่ได้รวบรวมเผ่าไทย ตั้งขึ้นเป็นราชอาณาจักรไทย ณ ผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้

1 ความคิดเห็น: