วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

กว่าจะมาเป็นประเทศไทย

พระมหากษัตริย์กับกองทัพไทย

ตั้งแต่เริ่มตั้งประเทศครั้งกรุงสุโขทัย 700-800 ปีมาแล้ว
ประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่เคยว่างเว้นจาการมีผู้นำ  นับเริ่มตั้งแต่ได้มีการ " สร้างบ้านแปงเมือง " ขึ้นเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าไทยเป็นต้นมาผู้นำชนชาติไทยหลาย ยุคหลายสมัย  ต่างได้เสียสละ อดทน ตรากตรำกรำศึกสงครามต่อสู้กับอริราชศัตรู เพื่อนำความเป็น " ไทมาสู่ชนในชาติ   พร้อมกันไปกับการสร้างความแข็งแกร่งและ ความเป็นปึกแผ่นอันมั่นคงขึ้นบนดินแดนสยามประเทศ
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ่อขุนรามราช) 
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรือง ให้แก่อาณาจักรสุโขทัย ทรงขยายอาณาจักรให้กว้างขวาง ปกครองประชาราษฎร์ ให้ได้รับความสุข ยุติธรรมเสมือน "พ่อปกครองลูก" ทรงส่งเสริมการค้าโดยเสรี ทรงริเริ่มประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เอง เมื่อปี พ.ศ. 1826 นับเป็นต้นกำเนิดอักษรไทยที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ และทรงรับเอาพระพุทธศาสนาจากลังกาเข้ามา เป็นศาสนาประจำชาติไทย

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2)

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย ภายหลังที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ในรัชสมัยของพระองค์ ทรงทำการศึกสงคราม และเอาชนะข้าศึกหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญที่สุดคือ ใน พ.ศ. 2135 พระมหาอุปราชาของพม่าได้ยกทัพมาตีไทย พระองค์ทรงชนช้างกระทำยุทธหัตถี และทรงฟันพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง ตั้งแต่นั้นมาพม่าก็เกรงกลัว เลิกยกทัพมารุกรานไทยอีก


สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3)


พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ในการปกครองประเทศ ทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง ทรงติดต่อเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ทรงติดต่อการค้ากับชาวต่างชาติ และเมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น ก็ทรงแก้ไขด้วยความเฉลียวฉลาด ทรงพระปรีชาในด้านกวี และทรงส่งเสริมการกวี จนเป็นเหตุให้เกิดมีกวีที่มีชื่อเสียงหลายคน มีวรรณคดีเกิดขึ้นหลายเล่ม นับเป็นยุคทองแห่งวรรณคดีไทย

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สมเด็จพระบรมราชาที่ 4)

หรืออีกพระนามหนึ่งว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 และสร้างกรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่ของไทย ทรงปราบปรามผู้ก่อตั้งชุมนุมต่างๆ จนราบคาบ และรวบรวมประเทศชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทรงกระทำสงครามจนได้รับชัยชนะ ขยายอาณาเขตประเทศออกไปอย่างกว้างขวาง.
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงสร้างกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีของไทย ทรงกระทำศึกสงครามกับพม่าหลายครั้ง ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ทรงสร้างปราสาทราชวัง ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเวียงจันทร์ สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวัดอื่นๆ ทรงรื้อฟื้นสังคยานาพระไตรปิฎก รวบรวมกฎหมายตราสามดวง และโปรดให้แต่งบทละครต่างๆ ขึ้นแทนของเก่าที่ถูกพม่าเผาทำลาย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระปิยะมหาราช)
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชา เป็นที่รักยิ่งของประชาชน ทรงนำประเทศชาติรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้น ของประเทศมหาอำนาจหลายครั้ง จนประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเซียเฉียงใต้ ที่รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น ทรงปรับปรุงประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมอารยะประเทศ ทรงโปรดให้เลิกทาส ให้มีการรถไฟ การไปรษณีย์ การไฟฟ้าและการประปาขึ้นเป็นครั้งแรก
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า)
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาในด้านอักษรศาสตร์ ทั้งพระราชนิพนธ์ บทละคร ประวัติศาสตร์ เรื่องแปล สารคดี เรื่องปลุกใจให้รักชาติ ทรงนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงตั้งกองลูกเสือไทย ส่งเสริมการศึกษา ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ทรงสร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งธนาคาร ประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล ออกแบบธงไตรรงค์ขึ้นใช้

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (สมเด็จพระภัทรมหาราช)

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปรียบเสมือน "พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย" ทรงพระปรีชาสามารถในทุกแขนงวิชา ทรงรักและห่วงใยพสกนิกร และแก้ไขปัญหาต่างๆ ทรงริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิต่างๆ ทรงค้นคว้า วิจัย การทำฝนเทียม ด้านการเกษตร การชลประทาน การสาธารณสุข และอื่นๆอีกมากมาย ทรงส่งเสริมความรักและสามัคคีให้เกิดในชาติ ทรงดูแลทุกข์สุขประชาชน ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงงานหนักมากที่สุดของโลก


นั่นคือ พระมหากรุณาธิคุณ โดยย่อ แห่งพระมหากษัตริย์ไทย

ตั้งแต่สุโขทัยจวบปัจจุบัน.....
 เราภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย....ขวานทองของไทยใจหนึ่งเดียว......

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก 
http://th.wikipedia.org/wiki

2 ความคิดเห็น:

  1. เราภูมิใจที่ได้เกิดบนแผ่นดินไทย

    ตอบลบ
  2. พระมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน ทรงเสียสละปกป้องบ้านเมือง เกิดบนแผ่นดินไทยเป็นโชคที่ดีที่สุดเพราะมีบูรพาพระมหากษัตรย์ที่ยิ่งใหญ่ทุกยุคทุกสมัย

    ตอบลบ