วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย



ตั้งแต่สมัยอดีตกาลชาวสยามใช้คำว่า “กษัตริย์” นัยความหมายว่า “ผู้ป้องกันภัย” แต่ในพุทธประวัติฝ่ายมหายานจำกัดความไปนอกเหนือจากนั้นว่า “กษัตริย์ คือ ผู้เป็นเจ้าของนา ผู้ปกครองป้องกันนาให้พ้นอันตราย” ดังนั้นกษัตริย์จึงได้รับการขนานนามอีกอย่างว่า “เกษตรปติ” หรือ “เกษตร” เนื่องด้วย “ข้าว” สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดมาแต่บรรพกาล ข้าวคือปัจจัยสำคัญสำหรับเลี้ยงชีวิตคนทั้งประเทศ ในแคว้นล้านนาแต่โบราณ พระเจ้ามังราย มีการใช้ข้าวบัญญัติอยู่ในกฎหมายเพื่ออ้างอิงเป็นหลักในการตัดสินคดีความ และการจะถือครองที่ดินทำกิน ทำนา จะต้องได้รับ พระบรมราชานุญาตเสียก่อน ในสมัยสุโขทัย พระราชภารกิจของพระเจ้าแผ่นดิน(พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) คือให้ประชาชนบุกเบิกแผ่นดิน ทำเป็นที่นาเป็นไร่สวนโดยในหลักศิลาจารึกมีข้อความที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไว้ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”นั่นเองครั้นในสมัยอยุธยายุคที่เรียกว่าเป็น“อู่ข้าวอู่น้ำ”ก็ยังยืดถือธรรมเนียมที่ประชาชนต้องขอพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งในฐานะเกษตรบดี ในการแบ่งสรรที่ทำกินและเริ่มการปกครองแบบจตุสดมภ์ที่มีกรมนารับผิดชอบในการส่งเสริมสนับสนุนอาชีพเกษตรกร สืบต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายให้สอดคล้องไปตามยุคกาลมีการตรากฎหมายขึ้นเพื่อรับรองสิทธิและคุ้มครองผู้ถือครองที่นา โดยสุจริต มีการออกหลักฐานแสดงสิทธิการถือครองที่ดิน คือโฉนด มีการกำหนดมาตราวัด-ตวง ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้นข้าวนอกจากจะเป็นอาหารหลักที่เลี้ยงปากท้องคนไทยแล้ว ยังถือเป็นเบี้ยหนึ่งในการแลกเปลี่ยนกับสินค้า เครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และยังจำเป็นต่อการเริ่มต้นติดต่อซื้อขายกับต่างประเทศอีกด้วย
พระราชภารกิจในการสร้างขวัญ และกำลังใจให้เกษตรกร สยามประเทศของเรา อยู่กินด้วยการเกษตรเป็นหลัก ไม่ว่าจะทำนา ทำไร่ ทำสวน ล้วนต้องการน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ตั้งแต่อดีตกาล เราพึ่งฟ้าฝนมาตลอด ซึ่งก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ พระมหากษัตริย์ในฐานะเกษตรบดี ทรงตระหนักในอุปสรรคอันเนื่องมาจากความผันผวนของธรรมชาติ จึงโปรดให้มีงานพระราชพิธีสร้างขวัญและกำลังใจ ให้บรรดาชาวนาชาวไร่ หลายพิธีด้วยกัน แต่ที่ยังคงเห็นกันอยู่จนปัจจุบัน คงมีเพียง พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทำในเดือนหกของทุกปี โดยพราหมณ์เพื่อทำพิธีแรกไถ ก่อนที่ชาวนาจะทำพิธีแรกนาในที่นาของตนเอง พิธีการนี้มีมาแต่สมัยสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเพิ่มพระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพิธีทางพุทธ และกระทำก่อนพิธีแรกนาขวัญ 1 วัน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เกษตรกร โดยทำขัวญเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ทั้งข้าวเหนียว ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน และอีกมากมาย ให้ปลอดโรค และงอกงามดี ซึ่งได้เว้นว่างไปในปี พ.ศ. 2479 – 2502
ต่อมาได้มีการจัดงานรัฐพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอีกครั้ง ในปี 2503 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช โดยพันธุ์ข้าวที่ใช้ประกอบพิธีจะมาจากโครงการส่วนพระองค์ พระตำหนักจิตรลดา ซึ่งยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับข้าวอีกมากมาย อาทิ แปลงสาธิตปลูกข้าว โรงสีข้าวตัวอย่าง โรงบดแกลบ ธนาคารข้าว เป็นต้น พระราชกรณียกิจ ที่ทรงปฏิบัตินั้นได้แผ่ขจรขจายให้ต่างชาติได้ตะหนักถึงพระอัจฉริยภาพ ดังที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) น้อมเกล้าฯ ถวายเหรียญแอกริโคลา (AGRICOLA) ในปี พ.ศ. 2538 เพื่อเป็นการยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะที่ได้ปฏิบัติงานพัฒนาอันยั่งยืน สร้างสรรค์ประโยชน์ในอนาคต และต่อมาในปี พ.ศ. 2539 สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเหรียญทอง (Royal Plaque) “International Rice Award” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่ IRRI ให้เกียรติบุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่วงการพัฒนาข้าว ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งทศวรรษ

พระมหากษัตริย์ไทยทรงทำนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระเมตตา พสกนิกรชาวนาไทย ทรงทุ่มเทพระวรกายบำเพ็ญ พระราชกรณียกิจด้าน การพัฒนาข้าวไทย และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา พระองค์ท่าน จึงทำให้แผ่นดินไทยกลายเป็น "แผ่นดินทอง" ความทุกข์ยากลำบากแปรเปลี่ยนเป็นความสุขสบาย อยู่แบบพอเพียง ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ เกี่ยวกับข้าวและชาวนามากมาย

พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ต่างก็ให้ความสำคัญกับข้าวและชาวนาไทยมาโดยตลอด พระราชดำรัสเกี่ยวกับข้าวและชาวนา ".. ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปีประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก.." กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2536)


" ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาการทดลองและทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมี ความยากลำบากอยู่ มิใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่าง ๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่งที่นานั้น เมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วควรปลูกพืชอื่น ๆ บ้างเพราะ จะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่ใช่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป"
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้นำกลุ่มชาวนา เมื่อ พฤษภาคม 2504 จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย : หน้า 2



เวลานึกถึงทำไมมีข้าวมาก ราคาข้าวก็ตก ก็น่าจะเป็นการดีที่มีข้าวมาก พวกเราที่บริโภคข้าวก็จะได้ซื้อข้าวในราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่าข้าวที่บริโภคทุกวันนี้ ราคาก็ยังแพงเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ก็ต้องหาเหตุผล ทำไมแพง ข้าวที่บริโภคแพง และข้าวที่ชาวนาขายถูก... เข้าไปหากลุ่มชาวนา ถามเขาว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่าแย่ ข้าวราคาถูก ก็ถามเขาว่า ยุ้งฉางมีหรือเปล่าที่จะเก็บข้าว เขาบอกว่ามี ก็เลยเห็นว่าควรที่จะเก็บข้าวเอาไว้ก่อน หลังจากที่ข้าวล้นตลาด แต่ว่าไม่ทันนึกดูว่า ทำไมเขาเก็บข้าวไม่ได้ แม้จะมียุ้งฉาง ก็เพราะเขาติดหนี้ เหตุที่ติดหนี้ก็คือ เสื้อผ้าเหล่านั้นหรือกะปิ น้ำปลา หรือแม้กระทั่งข้าวสารก็ต้องบริโภค ถ้าไม่ได้ไปซื้อที่ตลาด หรือร่วมกันซื้อ ก็คงเป็นพ่อค้า หรือผู้ที่ซื้อข้าวเป็นผู้นำมา อันนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้ข้าวถูก ... ข้าวเปลือกถูก แล้วก็ทำให้ข้าวสารแพง คือว่าชาวนาทำนาไปตลอดปี ก็ต้องบริโภค เมื่อต้องบริโภคก็ต้องเอาสิ่งของ ต้องไปติดหนี้เขามาสำหรับหาสิ่งของบริโภค แล้วก็เอาเครื่องบริโภคก็ได้รับบริการอย่างดีที่สุดจากผู้ที่มาซื้อข้าว บอกว่าไม่ต้องเอาข้าวมาเดี๋ยวนี้ เวลาได้ผลแล้วก็จะเอา แต่ว่าเอาสิ่งของมาให้แล้วก็เชื่อ ของนั้นก็มีราคาแพง เพราะว่านำมาถึงที่ ข้าวที่เวลาได้แล้วจะขายก็ต้องขายในราคาถูก เพราะว่าเขามักรับถึงที่ อันนี้เป็นปัญหาสำคัญถ้าจะแก้ปัญหานี้ ก็จะต้องแก้จุดนี้ ต้องแก้ด้วยการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มผู้บริโภคเหมือนกัน แล้วก็ไปติดต่อกับกลุ่มผู้ผลิต โดยที่ไปตกลงกันและอาจจะต้องตั้ง หรือไปตกลงกับโรงสีให้แน่ จะได้ไม่ต้องผ่านหลายมือ ถ้าทุกคนที่บริโภคข้าวตั้งตัวเป็นกลุ่ม แล้วก็ไปซื้อข้าวเปลือก แล้วไปพยายามสีเองหรือให้ผู้แทนของตัวสี ก็ผ่านมือเพียงผู้ที่ผลิต ผู้ที่สี และผู้ที่บริโภค ก็ตัดปัญหาอันนี้ (คนกลาง) ลงไป "
พระราชดำรัส ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวัน เสาร์ ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2514 จากหนังสือ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย : หน้า 6-7



เปิบข้าว 
เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ 
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน 
ข้าวนี้น่ะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน 
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว 
จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว 
จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ 
เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น 
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเป็นกิน 
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง และน้ำแรงอันหลั่งริน 
สายเลือดกูทั้งสิ้น ที่สูซดกำซาบฟัน
“จิตร ภูมิศักดิ์” เขียนในรูปของกาพย์ยานี...บุญคุณข้าวจงจำ ด้วยแลกเหงื่อของชาวนา...

ขอบคุณแหล่งข้อมูล
http://app1.bedo.or.th/rice/GeneralInfo.aspx?id=1
http://pre-rsc.ricethailand.go.th/rfsc/praratchadamrat.html

2 ความคิดเห็น:

  1. เพราะพระองค์ปลูกข้าว
    ข้าพระพุทธเจ้าจึงรักผืนนาดั่งดวงจิต

    ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

    ตอบลบ
  2. รักผืนนาที่มี รักแผ่นดินนี้เพื่อพ่อ
    ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

    ตอบลบ